ปัจจุบันมี graphical text editor ที่มีความสามารถสูงมากมายบางตัวนี่เรียกได้ว่าเป็นน้องๆ IDE เลยทีเดียวแต่ text-based UI text editor ก็ยังเป็นที่นิยมด้วยขนาดที่เล็กทำงานเร็วไม่เปลืองหน่วยความจำและจัดการกับไฟล์ขนาดใหญ่หรือเอกสารจำนวนมากได้ดี วันนี้ผมมี text-based UI text editor ที่น่าสนใจหลายตัวมานำเสนอเรามาเริ่มกันเลยซาร่า
1.มหาเทพ vi
text editor ในตำนานที่มีประวัติมายาวนานคู่บุญกับระบบปฏิบัติการตระกูล unix ทั้งหลายและพัฒนามาต่อเนื่องมี plugin เพิ่มความสามารถมากมาย และยังแตกลูกหลานออกมามากมายที่นิยมก็เช่น vim และ neovim ขึ้นชื่อทั้งในด้านทรงพลังและความยาก ที่ว่ายากเพราะใช้แต่ keyboard ต้องจำคำสั่งแปลกๆ มากมายที่ไม่คุ้นชิน ต้องคอยสลับโหมดแก้ไขข้อความและโหมดคำสั่ง แต่ถ้าใช้คล่องเมื่อไหร่มันจะเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมมากจนหลายคนติดใจไม่กลับไปใช้ตัวอื่นอีก
vim neovim
2.มหาเทพ Emacs
ถ้าพูดถึง vi จะไม่พูดถึง Emacs ก็ไม่ได้เรื่อง text editor นี่ก็เหมือนเป็นศาสนาไม่ต่างกับภาษาเขียนโปรแกรมเท่าไหร่ Emacs เองก็เป็น text editor ที่เก่าแก่ตัวหนึ่งที่ทั้งทรงพลังและยากไม่ต่างจาก vi ที่ว่ายากก็เพราะคีย์คำสั่งที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะตัวไม่คุ้นเหมือนกันกับ vi แต่ดีกว่าหน่อยที่ไม่ต้องสลับโหมดเวลาพิมพ์กับคำสั่งควบคุม ส่วนความทรงพลังของมันก็อยู่ที่การปรับแต่งได้ด้วยภาษา Lisp และมี library ที่มีคนทำเอาไว้มากมายทำให้มันเป็นมากกว่า text editor ไม่ว่าจะคิดเลข ปฏิทิน ดูเว็บ หรือมีแม้กระทั่งเล่นเกมบน Emacs
เช่นเดียวกับ vi ตัว Emacs เองก็มีลูกหลานแยกย่อยออกมามากมายเช่น XEmacs SXEmacs หรือ MicroEMACS ที่ Linus บิดาของ Linux ใช้งานเป็นต้น
Emacs
3. nano
ถ้าพูดถึงในแวดวง *nix ยุคแรกๆ นอกจาก vi และ Emacs แล้วก็คงไม่พ้นน้องเล็ก Pico(Pine Composer) ซึ่งเป็น text editor ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Pine โปรแกรม email client ยอดนิยมซึ่งมีข้อดีที่ใช้งานง่ายเหมาะกับการแก้ไขข้อความทั่วไปแม้ไม่มีความสามารถมากเท่าอีกสองตัวก่อนหน้า ต่อมาได้มีการนำ Pico มาพัฒนาต่อเป็น GNU nano ที่มีความสามารถมากขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงความเล็กเบาและใช้ง่ายอยู่ จุดเด่นคือมีรายการคีย์คำสั่งที่จำเป็นและใช้บ่อยให้ดูไม่ต้องคอยจำ
nano
4. micro
text editor รุ่นใหม่ที่เล็กเบาใช้ง่าย และทรงพลังสามารถพกพาและติดตั้งง่ายด้วยไฟล์ไบนารีไฟล์เดียว สามารถแสดงคีย์ที่ใช้หลักๆ ได้เหมือน nano และเป็นคีย์ที่เป็นธรรมชาติคุ้นเคยจำง่ายเช่น Ctrl-o = Open, Ctrl-q = Quit สนับสนุนการใช้เมาส์ สามารถตั้งค่าตัวแปรและพิมพ์คำสั่งโดยใช้ tab completion เพื่อเติมเต็มและแสดงรายการคำสั่งที่ใกล้เคียงและเรียก history ได้เหมือนในโปรแกรม bash นอกจากนี้ยังสามารถเขียน plugin เพิ่มเดิมได้ด้วยภาษา Lua อีกด้วย ข้อเสียคือแถบแสดงรายการไฟล์มีบรรทัดเดียวเวลามีไฟล์เยอะๆ แสดงไม่หมด แก้ได้ด้วยลง filemanager plugin
micro
5. Howl
อีกหนึ่ง text editor ที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่ายค้นหาและเปิดหลายไฟล์ได้รวดเร็วและดู preview ไฟล์ที่จะเปิดได้ สามารถใช้ tab แสดงรายการคำสังที่เกี่ยวข้องได้ สนับสนุนการใช้เมาส์ มีความยืดหยุ่นปรับแต่งความสามารถเพิ่มเติมได้ด้วยภาษา Lua หรือ Moonscript แต่ยังเพิ่งตั้งไข่ปัจจุบันยังเพิ่งออกรุ่น 0.6 เมื่อ 5 เม.ย. 19 ที่ผ่านมา
howl
6. Cream
เป็นหน้ากากครอบ vim อีกทีหนึ่งช่วยปรับแต่งหน้าตาเพิ่มเมนูและเปลี่ยนคีย์คำสั่งให้จำได้ง่ายแต่ยังคงประสิทธิภาพของ vi ไว้
cream
7. Nice Editor(ne)
เป็น editor ตัวเล็กที่เน้นใช้งานง่าย เร็ว และทรงพลังด้วยการมี dropdown menu และมี interactive help ในตัว
nice editor
8. JOE
เป็นชื่อแบบ recursive เหมือน PHP มาจาก Joe's Own Editor ตัวนี้คีย์คำสั่งให้อารมณ์โปรแกรมเก่าๆ บน DOS อย่าง IDE ของ Borland ตระกูล Turbo ทั้งหลาย และยังมีทั้งรุ่นที่จำลองคีย์ของ WordStar, Emacs และรุ่นที่จำลองคีย์ของ Pico ด้วยและยังมีแสดงรายการคีย์คำสั่งให้ดูเหมือน WordStar บน DOS จึงเหมาะทั้งคนที่คุ้นเคยกับ text editor ฝั่ง DOS และฝั่ง UNIX รวมถึงมือใหม่ทั้งหลายด้วย นอกจากนี้ยังมีโหมดสำหรับดูและแก้ไขแบบ hex editor ด้วย และยังมี jupp อีกตัวที่แตกออกมาจาก JOE 3.1 และ 2.8 มีการแก้ไขคีย์ แก้บัค และอื่นๆ
joe jupp
9. JED
เป็น editor อีกตัวที่มีการจำลองคีย์ของ WordStar, Borland รวมไปถึง Emacs ด้วยมี dropdown menu เหมือน ne สามารถปรับแต่งได้ด้วย ภาษา S-Lang
jed
ใครสนใจตัวไหนก็ลองเอาไปเล่นกันดูได้ครับหวังว่าคงจะถูกใจกัน 😁
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น